1/09/2555

บ้านอนุรักษ์ มธ. บ้านนี้มีมากกว่ารัก(เล่าเรื่องความเป็นมา)

เรื่องเล่าถึงความเป็นมาของบ้านอนุรักษ์ มธ.

“บ้านอนุรักษ์ มธ." เป็นการเรียกชื่อสถานที่และการรวมตัวของกลุ่มกิจกรรมนักศึกษากลุ่มหนึ่งในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ การให้คำจำกัดความว่า บ้าน มันได้ถ่ายทอดออกมาพร้อมๆกับความรู้สึกของคนที่อยู่ร่วมกันแล้วว่า ณ ที่นั้นมันมีแต่ความอบอุ่น มีแต่ความผูกพันเหมือนทุกคนคือครอบครัวเดียวกัน

ชื่ออย่างเป็นทางการของกลุ่มที่มหาวิทยาลัยรับรองในปัจจุบัน คือ ชุมนุมอนุรักษ์ธรรมชาติและสภาพแวดล้อม แต่เรื่องราวความเป็นมาจุดเริ่มต้นของ บ้านอนุรักษ์ มีขึ้นมายาวนานพร้อมๆกับการเริ่มต้นขึ้นของการเริ่มสนใจทำกิจกรรมเพื่อสังคมของนักศึกษาธรรมศาสตร์มาแล้ว กิจกรรมรุ่นเก่าของบ้านอนุรักษ์เป็นส่วนหนึ่งในตำนานและเรื่องเล่าขานเกี่ยวกับการอยู่เคียงข้างประชาชน เคียงข้างสังคมของนักศึกษาธรรมศาสตร์

.....ยุคแรกเริ่ม…..

ตั้งแต่ยุคเริ่มแรก ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสภาพแวดล้อม มธ. เกิดจากการรวมกลุ่มของนักศึกษา คณะต่างๆ ที่สนใจในเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยมี อาจารย์ สุดาทิพย์ อินทร เป็นที่ปรึกษา ในการจัดตั้ง ในปี 2515 มี ที่ตั้งชมรมอยู่ที่ ชั้นสองตึกโดม (ส่วนที่ถูกทุบไปปัจจุบันกลายเป็นอาคารอเนกประสงค์) โดยมองออกมา จะเห็นลานโพธิ์ ใช้ บอร์ดไม้กระดาน กั้น สองด้านเป็นที่ทำการชมรม มีตู้เหล็กหนึ่งตู้ โต๊ะ เก้าอี้จำนวนหนึ่ง ตรงนั้นแต่เดิม มีชมรมหลายชมรม เช่น คชธ. ค่ายอาสา ชมรมวรรณศิลป์ ชมรมทักษิณ ฯลฯ ดังนั้นสมาชิกชองชมรม จึงมีทั้ง บางคนอยู่ ชมรมวรรณศิลป์ คชธ. ค่ายอาสา และ ชมรมอื่นๆ เนื่องจากยังไม่มีสภาพเป็นชุมนุม จึงต้องไปใช้ที่ร่วมกับ สภานักศึกษา มธ. (และใช้โทรศัพท์ ของ สภานักศึกษา ติดต่องานอยู่บ่อยๆ เพราะ สวมหมวกหลายใบกันทุกคน) โดยเรื่องแรกๆ ที่ ทำกันคือ

การศึกษาเรื่องการเน่าเสียของแม่น้ำแม่กลอง และ การจัดนิทรรศการเรื่อง โรค มินามาตะ โรคอันเกิดจาก สารปรอท ที่ไหลลงทะเลญี่ปุ่น (มีการจัดทำ วารสารเรื่องการเน่าเสียของแม่น้ำแม่กลอง แต่ยังหาต้นฉบับไม่ได้) สำหรับผู้รับผลกระทบจากโรคมินามาตะนั้น สู้กันมา 50 กว่าปีแล้วยังไม่จบลง
ทุ่งใหญ่เซซ่าโว หรือ บันทึกลับทุ่งใหญ่ อันนำไปสู่การคัดชื่อนักศึกษา รามฯ ออก และ การชุมนุมประท้วงครั้งแรกของนักศึกษาในต้นเดือน มิถุนายน 2516 ที่ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จนสืบเนื่องไปถึงเป็นการชุมนุมใหญ่ ใน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในเดือน ตุลาคม 2516
การรณรงค์ให้คนหันมาใช้จักรยาน ใน กทม.
การต่อต้านการสร้างศูนย์เรดาร์บนยอดดอยอินทนนท์
การปลูกป่าที่เขาสอยดาว
การต่อต้านการสร้างเขื่อนน้ำโจน
ยุทธวิธีในการทำงาน

รู้ว่าแพ้ตั้งแต่แรก แต่ก็ยังสู้ เพื่อยกระดับความสำคัญของสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเรื่องนี้ คือ การต่อต้านการสร้างฐานเรดาร์บนยอดดอยอินทนนท์ เป้าหมายคือ พยายามรณรงค์ให้เห็นว่าสิ่งแวดล้อมสำคัญ อย่างน้อยก็เบอร์สอง เบอร์สาม เมื่อเทียบกับปัญหาความมั่นคงของชาติ
เตรียมข้อมูลและกำหนดทัศนะต่อเรื่องที่เกิดขึ้น มีการอ้างอิง หรือ พยายามเชื่อมโยง ปัญหาให้คนสนใจ เช่น กรณีแม่กลองเน่าเสีย จัดการรณรงค์ คู่กับการจัดนิทรรศการ โรคมินามาตะ การกำหนดทัศนะสำคัญ เพราะเมื่อมีการถกเถียงกัน การเตรียมเหตุเตรียมผลไว้ดี เมื่อขึ้นเวทีเสวนาวงกว้างจะได้สามารถนำเสนอได้อย่างหนักแน่น
มีผู้รับผิดชอบโครงการชัดเจนและมีอย่างน้อย สองคน รวมทั้งให้มีการรายงานผลการศึกษา ตัวอย่างผลการศึกษา เช่น หมู่บ้านตะกั่ว และการเก็บข้อมูลน้ำเสียที่ จ.ชลบุรี (ร่วมกันหลายสถาบันจับมือกันทำ)
พันธมิตรและการสร้างพันธมิตร

ขยันหารือกับเพื่อนต่างสถาบัน หรือจัดกิจกรรมกับเพื่อนต่างสถาบันในสมัยนั้น แต่ละสถาบันมีอิสระในการ รณรงค์ ใครสนใจเรื่องอะไร ก็แลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ประชุมหารือ กัน บางครั้งก็ร่วมกันทำ บางครั้งก็แยกกันทำ (คอเดียวกัน ขยันคุยกัน มีการไปเยี่ยมเยือน ชมรมที่สถาบันอื่นๆ ถ้าทำได้ ) ในบางการ รณรงค์ หรือจัดทำแถลงการณ์ สามารถ รวมได้ถึง 20 กว่า สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา และ ในบางเรื่อง มีชมรมในระดับโรงเรียนมัธยม ร่วม เป็นกว่า 50 แห่ง
กับรุ่นน้อง โรงเรียนมัธยม หากมาเยี่ยมเยือนก็ให้คำแนะนำ ถ่ายทอดประสบการณ์
เมื่อไปหาข้อมูลจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ นำข้อมูลไปเสนอแนะต่อประชาชนในพื้นที่ด้วย
การผูกมิตรกับข้าราชการระดับปฏิบัติการ เนื่องจากในสมัยก่อนข้อมูลข่าวสารสำคัญๆ มักอยู่ในมือข้าราชการ และมีข้าราชการจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วย แต่อึดอัด หลักนี้ก็น่าจะยังใช้ได้ในปัจจุบัน
การเตรียมการในการต่อสู้-รณรงค์

จัดนิทรรศการเพื่อให้ความรู้ ข้อมูล ข่าวสาร
แจกข้อมูลไปยังสื่อต่างๆ (จะลงไม่ลง ไม่สนใจแต่เพื่อให้เกิด awareness)
แจกข้อมูลไปยังพันธมิตร เพื่อนร่วมแนวคิด
จัดเสวนาเรื่องสิ่งแวดล้อม บ่อยๆ มี คนน้อย 10-20 คน ก็ไม่เป็นไร ใช้หอประชุมเล็ก จัด หรือ บางทีแค่ห้องเรียนในคณะศิลปศาสตร์ ก็มี
จัดทำโปสเตอร์ หรือแผ่นพับ เพื่อใช้รณรงค์


.....ยุคเปลี่ยนผ่าน…

การตื่นตัวและความสนใจของนักศึกษาต่อปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม เป็นกิจกรรมที่ได้รับความสนใจตลอดมาในยุคเริ่มแรกที่กิจกรรมนักศึกษาเฟื้องฟู ชุมนุมอนุรักษ์ฯ มีสมาชิกเข้าร่วมมากบ้างน้อยบ้าง สับเปลี่ยนหมุนเวียนไป ต่อมาในระยะหลังเมื่อการเคลื่อนไหวใดๆของนักศึกษาที่กระทบต่อการพัฒนาของภาครัฐถูกจำกัดขอบเขต สังคมไทยเริ่มเรียนรู้และรับวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามา ความสนใจต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมของนักศึกษาธรรมศาสตร์เริ่มลดลงเหลือเพียงกลุ่มคนกลุ่มเล็กๆไม่กี่คนที่ยังสานต่อเจตนาการอนุรักษ์ ต่อต้านอำนาจรัฐ เรื่อยมา โดยสิ่งที่ทำให้แวดวงการอนุรักษ์ของนิสิตนักศึกษายังคงอยู่ คือการสร้างเครือข่ายระหว่างสถาบันอุดมศึกษาที่ทำงานด้านอนุรักษ์ ซึ่งรวมกันในนามว่า คณะกรรมการอนุรักษ์ธรรมชาติและสภาพแวดล้อม 16 สถาบัน(คอทส.) การรวมตัวของ คอทส.นี้สามารถสร้างพลังต่อรองของกลุ่มนักศึกษาที่มีต่ออำนาจรัฐได้มากขึ้น รัฐฟังเสียงคัดค้าน การเสนอแนะของกลุ่มนักศึกษามากขึ้น ในการขับเคลื่อนของ คอทส. ตลอดมา สมาชิกจากชุมนุมอนุรักษ์ฯ มธ.ล้วนมีบทบาทในระดับนำเสมอ โดยเป็นผู้ประสานงาน ให้ใช้ห้องชุมนุมอนุรักษ์ฯที่ตึกกิจกรรมนักศึกษา ท่าพระจันทร์เป็นศูนย์ประสานตลอดอมา ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าการเคลื่อนไหวของ คอทส.ในยุคแรกๆ ก้คือการเคลื่อนไหวของชุมนุมอนุรักษ์ มธ.ร่วมด้วยเกือบทั้งสิ้น

ยิ่งการตื่นตัวของกระแสสังคมไทยต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหลังการยิงตัวตายของคุณ สืบ นาคะเสถียร ช่วงเวลานั้นเรื่อยมานับ 10 ปี ห้อง 309 ที่ตึกกิจกรรมนักศึกษา ธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ ไม่เคยว่างเว้นจากนักอนุรักษ์ฯที่แวะเวียนมาเยี่ยมเยือนไม่ขาดสาย

มีขึ้นก็ย่อมมีลงเป็นเรื่องธรรมดา กระแสการอนุรักษ์ก็เช่นกัน กิจกรรมความสนใจของนักศึกษาต่อเรื่องการอนุรักษ์เริ่มลงน้อยลง บวกเข้ากับการปิดตัวลงของเครือข่ายการอนุรักษ์ฯของนักศึกษาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ อย่าง คอทส.ได้สิ้นสุดลง จากปัญหาภายในระหว่างกลุ่มสมาชิกเอง การเมืองจากภายนอกที่เข้ามาแทรงแซง ทำให้ คอทส.หยุดการทำงานลงในประมาณปี พ.ศ. 2545 ซึ่งเป็นปรากฎการณ์พร้อมๆกันกับการลดลงของสมาชิกของชุมนุมอนุรักษ์ฯ มธ. ถึงแม้ในระยะหลังมีการเพิ่มขึ้นของคณะสายวิทย์ ที่รังสิตของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ก็แปลกที่เป็นเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆไม่กี่ปีที่มีกลุ่มนักศึกษาจากสายวิทย์เข้ามาทำงาน และมีจำนวนน้อยมาก

รูปแบบการทำกิจกรรมของชุมนุมอนุรักษ์ฯ มธ.ภายหลังบทบาทของ คอทส. ยุติลง จะเป็นการทำค่ายส่งเสริมจิตสำนึกการอนุรักษ์โดยทำค่ายกับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยและค่ายเรียนรู้กับเด็กๆ มากกว่าการลงพื้นที่ศึกษาในพื้นที่ปัญหาและร่วมต่อสู้คัดค้านเหมือนอย่างที่เป็นมา อาจเพราะมีสมาชิกน้อยและเครือข่ายพลังจากสถาบันอื่นที่หายไปทำให้พลังที่จะทำงานเช่นเดิมลดลง ในบางครั้งกิจกรรมที่ชุมนุมจัดอาจเป็นการพาไปเดินป่าศึกษาธรรมชาติ การออกทะเลปลูกปะการัง หลายๆครั้ง รูปแบบกิจกรรมเช่นนี้จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้กับคำเรียกขานว่า “เป็นกลุ่มกิจกรรมเพื่อการท่องเที่ยว ใครอยากเที่ยวราคาถูกต้องไปกับชุมนุมนี้” สำหรับคนทำงานอาจใจเสียไปบ้างกับถ้อยคำเหล่านั้น

......ยุคปัจจุบันกับการเริ่มต้นใหม่….

ต่อมาจากยุคที่กิจกรรมอนุรักษ์ฯในธรรมศาสตร์ลดลง นักศึกษาไม่ได้ให้ความสนใจเหมือนในอดีต จนชุมนุมอนุรักษ์ฯ เกือบไม่มีสมาชิกหลงเหลืออยู่เลย ช่วงประมาณ ปี พ.ศ.2550 เป็นต้นมาสมาชิกอย่างจริงจังของชุมนุมเหลือเพียง ไม่ถึง 5 คน ที่ยังคงอยู่ได้ก็เพราะหัวใจที่หวังจะทำงานด้านการอนุรักษ์และสานต่อให้ชุมนุมคงอยู่ ด้วยสมาชิกเพียงน้อย กิจกรรมที่ทำจึงเป็นการศึกษาและทำค่ายปลูกฝังจิตสำนึกการอนุรักษ์เช่นเดิม แต่จำนวนและความถี่ของกิจกรรมอาจลดลงเหลือปีละครั้ง

จนกระทั่งในปี พ.ศ.2552 มีกลุ่มนักศึกษาที่ลึกๆยังตระหนักถึงภัยธรรมชาติที่เกิดจากการไม่ใส่ใจของมนุษย์ต่อสิ่งแวดล้อมและอยากทำกิจกรรมเพื่อจะขอเป็นกลุ่มเล็กๆที่ได้มีส่วนช่วยทำอะไรบางอย่างเพื่อร่วมรักษาธรรมชาติได้บ้าง และที่สำคัญคือต้องการรักษาตำนานบทบาทของกลุ่มกิจกรรมเพื่อการอนุรักษ์ให้คงอยู่กับธรรมศาสตร์ต่อไป ได้ชักชวนกันมาสานต่อการทำงานอนุรักษ์ในมหาวิทยาลัย ในชุมนุมอนุรักษ์ฯ กิจกรรมหลายๆอย่างของยุคนี้อาจไม่ได้แต่ต่างจากยุคก่อนมากนัก คือ ต้องการทำกิจกรรมเพื่อชวนให้เพื่อนๆในมหาวิทยาลัยให้หันมาใส่ใจกับการดูแลสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น กิจกรรมที่จัดขึ้นจึงผสมผสานกันไประหว่างการศึกษาและการลงมือปฏิบัติ มีค่ายที่พาเพื่อนๆไปปลูกพืชอาหารให้ช้าง ได้เรียนรู้ความสำคัญและชีวิตของช้าง ค่ายสร้างฝายศึกษาต้นน้ำ ที่พาเพื่อนๆไปอยู่กับชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าต้นน้ำในภาคเหนือ ไปเรียนรู้การใช้ชีวิตร่วมกับชาวบ้านเพื่ออนุรักษ์ต้นน้ำ หรือกิจกรรมที่ใส่ใจในการใช้ชีวิตประจำวันของนักศึกษาในมหาวิทยาลัย โดยชวนทุกคนเอาถุงผ้าที่มีมาแชร์และแบ่งปันกันใช้ และล่าสุดคือ ทำกิจกรรมกับเด็กๆในโรงเรียนรอบๆมหาวิทยาลัยเพื่อเสริมสร้างแนวคิดเรื่องการอนุรักษ์เพื่อให้ร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อมโดยรอบมหาวิทยาลัยร่วมกัน พร้อมกับกิจกรรมค่ายอื่นอีก

กิจกรรมของกลุ่มนักศึกษาที่เรียกร้องตัวเองว่า ทีมฟื้นฟูชุมนุมได้ร่วมกันทำ หากเปรียบเทียบกับรุ่นพี่ๆในอดีตแล้วอาจดูเล็กน้อยเทียบไม่ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเขาภูมิใจคือการได้ลงมือทำเองในสิ่งที่พวกเขาฝัน การได้ทำอะไรแม้เพียงเล็กน้อยที่ได้มีส่วนช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญคือการที่พวกเค้าสามารถชวนเพื่อนๆน้องๆในมหาวิทยาลัยให้หันมาสนใจทำเริ่มทำอะไรบางอย่างเพื่อธรรมชาติร่วมกัน เพิ่มขึ้นเพียงหนึ่งคน นั่นก็ถือว่าพวกเขาประสบผลสำเร็จแล้ว ทุกวันนี้การทำงาน ณ ที่ที่พวกเขาเรียกว่าบ้าน บ้านอนุรักษ์ นอกจากการทำงานอนุรักษ์แล้วสิ่งที่ทำให้ ณ บ้านแห่งนี้แสนจะอบอุ่นคือการอยู่ร่วมกันด้วยความรัก ความผูกพัน การใส่ใจและดูแลซึ่งกันและกัน ให้ทุกคนได้ร่วมกันทำงานอย่างเท่าเทียมไม่มีใครเก่งกว่าใคร ใหญ่กว่าใคร สิ่งเหล่านี้ทั้งนั้นที่ทำให้พวกเขาเรียกที่แห่งนี้ว่า “บ้านอนุรักษ์ มธ.” อย่างไม่อายใคร

ต่อจากนี้ไปบ้านอนุรักษ์ มธ. จะยังร่วมกันทำกิจกรรมดีๆด้วยความรัก ความผูกพันกันต่อไป ซึ่งต่อๆไปก็เชื่อว่าจะยังคงรักษาวิธีการอยู่ร่วมกันความผูกพันแบบคนในครอบครัวเช่นนี้ตลอดไปทุกรุ่น เพราะเชื่อว่าด้วยบรรยากาศการอยู่ร่วมกันเช่นนี้แหละที่จะทำให้ ชุมนุมยังคงสืบต่อไปได้ และก็เชื่อว่า ณ บ้านแห่งนี้จะยังรอคอย คนที่มีฝันอยากชวนกันทำอะไรเล็กๆเพื่อธรรมชาติเพื่อสิ่งแวดล้อมรอบๆตัวเราด้วยกัน บ้านอนุรักษ์ที่แสนอบอุ่นแห่งนี้รอคอยเธอมาร่วมกันเสมอ

Pirafreedom

www.Pirafreedom.wordpress.com

(เรียบเรียง 26 เมษายน 2554)

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

http://tungyai2516.blogspot.com/

http://cctu09.blogspot.com/

ติดต่อชุมนุมได้ที่ www.facebook.com/anuraktu

ประธานทีมฟื้นฟูชุมนุมรุ่นที่ 3 กานต์ 085-4113997

อ่านจากที่มา http://pirafreedom.wordpress.com/2011/04/26/anuraktu/

ข้อมูลพื้นที่ปลูกป่าทั่วประเทศไทย

ข้อมูลพื้นที่ปลูกป่าทั่วประเทศไทย
ขอขอบคุณ Volunteerspirit.org